หัวใจสำคัญในการเลี้ยงลูกแมว Ep. 1
ในช่วงนี้หลายคนอาจอยู่ในช่วงกักตัวอยู่บ้านในสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 กัน ก็อาจจะหาสัตว์มาเลี้ยงเป็นเพื่อนแก้เบื่อแก้เหงา หรือเพื่อนๆ หลายคนที่เลี้ยงอยู่แล้วก็มีคำถามกันเข้ามาปรึกษาคุณหมอกันหลายเรื่อง วันนี้ขอมาเล่าสู่กันฟังแล้วกันครับ หากจะเริ่มมีลูกแมวแรกเกิด สิ่งสำคัญคือ
Photo by Kote Puerto on Unsplash
1.การเตรียมตัวแม่แมวก่อนคลอด
ให้ดีทั้งสุขภาพโดยรวม สังเกตพฤติกรรมแม่แมวอยู่เสมอ การนับวันคลอดที่ถูกต้อง โดย แม่แมวจะตั้งท้อง 63 วัน (บวกลบ 3 วัน หมายถึงสามารถคลอดได้ตั้งแต่วันที่ 60 ถึง วันที่ 66 ของการตั้งท้อง )
แต่ถ้าจำวันผสมไม่ได้แน่นอน (ครั้งก็ต่อไปถ้าลืมก็คว้าโทรศัพท์มาถ่ายรูปเก็บไว้นะครับ แล้วมาย้อนดูทีหลัง ) เจ้าของก็สามารถแม่แมวไปหาสัตวแพทย์ที่โรงพยาบาลสัตว์ เพื่อการตรวจวินิจฉัยประเมินอายุท้องได้โดยเอกซเรย์ได้ตั้งแต่ อายุท้อง 30 วัน หรือวิธี อัลตราซาวน์ ที่อายุท้อง 45 วัน ก็จะสามารถประเมิน จำนวนตัว ขนาดหัวของลูกขนาดของช่องเชิงกรานของแม่ และ อัตราการเต้นหัวใจของลูก เพื่อประเมินและกำหนดวันคลอดได้
2.การเตรียมตัวเรื่องอาหารแม่แมวก่อนคลอด
ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ พยายามให้อาหารแม่แมวในปริมาณปกติ อย่าให้มากเกินไป โดยเฉพาะช่วงท้ายของการตั้งท้อง เพราะอาจส่งผลต่อลูกในท้องตัวใหญ่เกินไป จะทำให้คลอดยาก และไม่ต้องเสริมแคลเซียมในช่วงตั้งท้อง เนื่องจากบางครั้งกะโหลกศีรษะของลูกใหญ่เกินกว่าความกว้างของช่องเชิงกรานของแม่แมว ทำให้ต้องผ่าคลอดก็เป็นได้ ไม่ต้องห่วงว่ากลัวลูกแมวออกมาตัวเล็ก เมื่อลูกแมวคลอดแล้วเราค่อยมาโด้ปเสริมสารอาหาร วิตามิน และแคลเซียมให้แม่แมวช่วงให้นมเลี้ยงลูก และเราสามารถมาโด้ปลูกแมว ให้โตทีหลังได้ครับ หลายครั้งที่เคยเจอ ตัวที่คลอดออกมาตัวเล็กก็สามารถโตได้ทันพี่น้องในครอกเดียวกัน บางครั้งแซงหน้าตัวที่คลอดออกมาตัวใหญ่กว่าก็มีครับ
อาหารคือปัจจัยที่สำคัญที่สุด ฉะนั้นการเลือกสรรอาหารที่ถูกต้องและเหมาะสม ปัจจุบันนี้ท้องตลาดมีอาหารสำเร็จรูปนับไม่ถ้วน รอให้คุณหยิบไปให้เจ้าเหมียวตัวน้อยที่บ้าน คำแนะนำง่ายๆของก็คืออ่านฉลากข้างถุงให้เป็น ดูซิว่าอาหารดังกล่าวนั้นเหมาะสำหรับช่วงวัยใด สายพันธุ์ไหน ส่วนเรื่องรสชาตินั้นแมวต้องเป็นฝ่ายตัดสินไม่ใช่เจ้าของตัดสินเอง นะครับ ทั้งนี้หากบ้านของคุณมีเจ้าตูบอยู่ด้วย เราขอเตือนไว้เลยว่าอาหารของสุนัขไม่เหมาะสำหรับแมว
Photo by Bonnie Kittle on Unsplash
3.เตรียมอุปกรณ์หมอตำแยจำเป็น
- แผ่นรองซับ (ใช้ของผู้ใหญ่ เพราะแผ่นจะใหญ่และราคาถูกกว่าของแมวที่ซื้อตาม pet shop)
- แอลกอฮอล์ 70 % (ช่วงนี้อาจจะหายากและราคาสูงนิดนึง)
- กรรไกร (ใช้แบบไหนก็ได้ และควรทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์ก่อน)
- เชือกมัดสายสะดือ (บางครั้งอาจใช้ไหม หรือ เอ็นเส้นเล็กๆ)
- ลูกยางแดง เบอร์ 1 หรือ 2 (ไว้ดูดเสมหะจากจมูกหรือปากลูกแมว)
- ไดร์เป่าขน
- ไฟกก และหลอดไฟ 100 วัตต์
- สำลี
- ถุงมือยาง
4. การเตรียมสถานที่ให้แม่แมวคลอด
- ควรให้แม่แมวอยู่ในที่เงียบ ๆ แยกจากแมวตัวอื่นในบ้านเพื่อให้แม่แมวรู้สึกปลอดภัย ไม่เครียดและกังวล
- พยายามจำกัดบริเวณ อย่าให้มีชั้นให้กระโดดขึ้นลง เพราะอาจจะกระทบต่อลูกในท้อง
- เมื่อใกล้ครบกำหนดคลอด 1-2 สัปดาห์ เตรียมไถขนบริเวณท้อง รอบ ๆ เต้านม และบริเวณใกล้ช่องคลอด และทำความสะอาดเต้านมด้วยน้ำอุ่น
- หาลัง หรือกล่อง ทำเป็นสถานที่ให้แม่แมวรู้ว่าจะต้องคลอดตรงไหน และหาผ้ากระดาษแผ่นรองซับปูไว้ แม่แมวบางตัวจะมีพฤติกรรมสร้างรัง จะคุ้ยกระดาษกับผ้าที่ปูไว้เพื่อเตรียมพร้อมให้ลูกแมวน้อย
Photo by Mikhail Vasilyev on Unsplash
5. อย่าลืมเบอร์โทร สัตวแพทย์ คลินิกหรือโรงพยาบาลสัตว์ไว้สำรอง
เพราะบางครั้งเราไม่สามารถรู้ได้ว่า แม่แมวจะคลอดเองได้ครบทุกตัวหรือไม่ บางครั้งเจ้าของสังเกตว่าท้องแม่แมวยุบแฟบลง แม้จะคลำแล้วไม่น่าจะมี (ซึ่ง ลูกที่คลอดออกมาควรจะคลอดห่างกันไม่เกิน 30 นาที )แต่บางครั้งก็มีเหมือนกันที่เว้นช่วงนาน ข้ามวัน ข้ามคืน อาจเพราะแม่แมวไม่มีแรงเบ่ง หรือลูกแมวขวางเชิงกราน ผิดท่า ลูกแมวตัวเล็ก หรือลูกโทน ก็ควรรีบไปคลินิกหรือโรงพยาบาลสัตว์ โดยด่วน หากเกิดช่วงกลางวันน่าจะไม่มีปัญหา แต่หากเกิดหลัง 22.00 น. ในช่วงนี้มีพรก.ฉุกเฉินห้ามออกจากบ้าน อาจต้องรอช่วงเช้า หรือ เป็นคุณหมอตำแยจำเป็นนะครับ
หากมีข้อสงสัยหรือต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ เพจ Thaipetfood หรือ Line Official เรามีทีมสัตวแพทย์คอยให้คำปรึกษาฟรีนะครับ แล้วพบกันEp. 2 เร็วๆ นี้
นายสัตวแพทย์รพีพัฒน์ โพบุคดี