โรคลำไส้อักเสบติดต่อในสุนัข เป็นอีกหนึ่งโรคสำคัญที่เจ้าของต้องให้ความสำคัญ เพราะหากสุนัขของท่านป่วยเป็นโรคนี้แล้ว มีความเสี่ยงสูงที่สุนัขอาจเสียชีวิตได้
ดูพฤติกรรมประจำวัน
ปกติสุนัขปกติ จะมีความตื่นตัวตลอดเวลา ไม่ซึม กินอาหารและน้ำปกติ ขับถ่ายปกติ แต่หากท่านเห็นอาการผิดปกติ เช่น นอนซึม ไม่กินอาหาร ก็เริ่มสงสัยได้แล้วนะครับว่า สุนัขของท่านกำลังเริ่มป่วย และหากยังพบว่ามีอาการเพิ่มเติม เช่น อาเจียน ถ่ายเหลว มีเลือดสดปนออกมา มีกลิ่นคาวมาก ก็ควรพึงสังหรณ์ใจได้แล้วนะครับว่า สุนัขของท่านมีโอกาสป่วยเป็นโรคลำไส้อักเสบติดต่อ
รีบพาสุนัขไปหาหมอ
รีบพาสุนัขไปหาหมออย่างเร่งด่วน ซึ่งหากหมอวินิจฉัยโรคและรักษาได้อย่างทันท่วงที สุนัขของท่านก็มีโอกาสรอดชีวิตสูงขึ้น นะครับ โดยหมอจะซักประวัติทั่วไป เช่น อายุสัตว์ ซึ่งอายุเกี่ยวข้องกับความรุนแรงของโรค โดยสุนัขอายุน้อยจะมีความรุนแรงมากกว่าสุนัขโต ซักเรื่องอาการต่างๆทั้ง อาเจียน ท้องเสีย การกินอาหารและน้ำหรือไม่ ประวัติการทำวัคซีน หากไม่เคยทำวัคซีนมาก่อนโอกาสเป็นโรคจะสูงกว่าสัตว์ที่เคยทำวัคซีนมาแล้ว ซึ่งเจ้าของควรตอบอย่างละเอียดนะครับ เพื่อจะช่วยให้การวินิจฉัยโรครวดเร็วยิ่งขึ้น
และหมอจะตรวจร่างกายสุนัขเพิ่มเติม เจาะเลือดส่งตรวจหาโรคลำไส้อักเสบ โดยจะนำเลือดที่ได้ไปทดสอบกับชุดทดสอบโรคลำไส้อักเสบติดต่อ หากให้ผลบวก บ่งชี้ว่าสุนัขของท่านเป็นโรคลำไส้อักเสบติดต่อแน่นอนครับ หากได้ผลลบ บ่งชี้ว่าสุนัขของท่านอาจจะเป็นหรือไม่เป็นโรคก็ได้ เนื่องจากการตรวจไม่พบอาจมีสาเหตุมาจากยังไม่มีภาวะมีไวรัสในกระแสเลือด
เมื่อทราบผลว่าสุนัขป่วยเป็นโรคลำไส้อักเสบติดต่อแล้ว หมอจะทำการรักษาโดยการให้น้ำเกลือ และสารอาหารทางเส้นเลือด ให้ยาต้านอาเจียน รวมทั้งให้ยาปฏิชีวนะ เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน แต่สิ่งที่เจ้าของควรคิดไว้เสมอ ก็คือ โรคไวรัส ไม่มียารักษา การรักษาเป็นเพียงการรักษาตามอาการ และพยุงอาการให้สัตว์สามารถกลับมากินอาหารและน้ำได้ ซึ่งขึ้นกับการตอบสนองของตัวสัตว์เอง ดังนั้นหากสุนัขของท่านเกิดเสียชีวิตในระหว่างการรักษา ก็อาจเป็นผลมาจากการไม่ตอบสนองต่อการรักษา (ไม่ควรตำหนิหมออย่างเดียว นะครับ)
และสิ่งที่สำคัญมากก็คือ ค่ารักษาจะค่อนข้างแพง เนื่องจากต้องใช้เวลาในการรักษานานหลายวัน ต้องใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ จำนวนมาก ดังนั้นหากท่านเลือกที่จะป้องกันโรคแก่สุนัขของท่านเสียก่อน ก็อาจไม่ต้องสูญเสียเงินจำนวนมากในการรักษา ดุจคำคมที่ว่า เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย
การป้องกัน โรคลำไส้อักเสบติดต่อในสุนัข
- การทำวัคซีนป้องกันโรคลำไส้อักเสบติดต่อเมื่ออายุ 6 และ 8 สัปดาห์ (วัคซีนรวม 5 โรค) และอีกครั้งเมื่ออายุ 12 สัปดาห์ (วัคซีนรวม 6 โรค) จากนั้นกระตุ้นทุกปี หลังจากฉีดวัคซีนควรงดอาบน้ำ 7 วัน เนื่องจากหลังทำวัคซีน จะเกิดปฏิกิริยากระตุ้นภูมิคุ้มกันของตัวสัตว์เอง หากอาบน้ำจะส่งผลให้สุนัขเป็นไข้ ทำให้อุณหภูมิของร่างกายสัตว์ที่สูงขึ้นไปทำลายตัวเชื้อในวัคซีน ทำให้การทำวัคซีนไม่ได้ผล
- ไม่ควรซื้อวัคซีนมาฉีดเอง เนื่องจากหากไม่ชำนาญในการฉีด อาจฉีดผิดตำแหน่ง หรือฉีดผิดวิธีส่งผลให้การฉีดวัคซีนไม่ได้ผล เสียทั้งเงินและเวลา จึงควรนำไปให้สัตวแพทย์เป็นผู้ฉีดเท่านั้น
- ควรจัดการเรื่องอาหารและน้ำเป็นอย่างดี อาหารต้องสะอาด สดใหม่ อยู่เสมอ ไม่ควรให้สุนัขออกไปคุ้ยเขี่ยหรือกินอาหารนอกบ้าน เนื่องจากอาจไม่สะอาดและเป็นแหล่งแพร่เชื้อมาสู่สุนัขของท่านได้
- ควรมีการล้างถาดใส่อาหารและน้ำเป็นประจำ ทำความสะอาดพื้นที่อาศัยของสุนัขอย่างสม่ำเสมอ
- ควรเก็บและกำจัดอุจจาระของสุนัขให้เป็นที่ มีการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อบริเวณที่สุนัขอุจจาระเป็นประจำ
- กรณีที่ท่านเลี้ยงสุนัขหลายตัว แต่ส่วนใหญ่ยังไม่แสดงอาการป่วย ควรรีบนำสุนัขที่ยังไม่แสดงอาการป่วยนั้นมารับการฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันโรคโดยเร็ว