น้องหมาน้องแมวติด Covid -19 ได้จริงหรือ ?
หลายคนช่วงนี้คงอยู่ในช่วงการทำงานที่บ้าน (Work From Home : WFH) เพราะวิกฤตโรคระบาด “โควิด-19” ที่มาจากไวรัส “โคโรน่า” ที่ยังมองไม่เห็นตอนอวสาน ว่าจะจบลงแบบไหน ในส่วนของโรคนี้กับสัตว์เลี้ยง มีข่าวคราวอย่างไร วันนี้คุณหมอขอรวบรวมข้อมูล มาเล่าสู่กันฟัง
กรณีข่าวการพบสุนัขที่ฮ่องกง 2 ตัว ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโรคโควิด-19 ซึ่งทราบดีกันว่าฮ่องกงมีการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ในระยะ 3 แล้ว และสุนัขอยู่กับผู้ป่วยโรคโควิด-19 จึงพบเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ในสุนัขที่เลี้ยงอยู่ โดยปริมาณที่พบต่ำมาก เทียบเท่ากับที่พบตามลูกบิดประตู หรือพื้นผิวต่างๆ เพราะฉะนั้น ยังไม่ได้รับการยืนยันว่าสุนัขตัวนี้มีการติดเชื้อ เชื้อที่พบยังไม่ทราบอาจเป็นแค่การปนเปื้อนจากที่สุนัขคลุกคลีกับผู้ป่วย และเลียมือหรือเสื้อผ้าผู้ป่วยที่มีเชื้ออยู่
นอกจากนี้ ก็มีรายงานว่าแมวที่เบลเยียมติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้นักวิจัยให้ความสนใจศึกษาเรื่องนี้ โดยมีข้อสันนิษฐานว่า สัตว์เลี้ยงอาจได้รับเชื้อจากเจ้าของ ได้ เนื่องจากแมวและสุนัขเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีความใกล้ชิดกับมนุษย์มาก อีกทั้งภูมิต้านทานไวรัสของสัตว์ทั้ง 2 ชนิดก็ไม่มากพอจะต่อต้านเชื้อโรคได้
“จากข้อมูลในปัจจุบัน สุนัขไม่แสดงอาการป่วยแต่อย่างใด แต่พบปริมาณไวรัสในระดับต่ำและพบการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันในสุนัขดังกล่าว ส่วนในแมวมีอาการป่วยทั้งระบบทางเดินหายใจและระบบทางเดินอาหาร รวมทั้งตรวจพบไวรัสก่อโรคในอาเจียนและในมูลแมว อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานการติดเชื้อไวรัสก่อโรค COVID-19 จากสัตว์เลี้ยงสู่มนุษย์”
ล่าสุด นักวิจัยประเทศจีน พบว่า “แมว” สามารถติดเชื้อไวรัสโคโรน่าได้ โดยการหยอดเชื้อให้แมวแมวบ้านปกติที่มีอายุประมาณ 8 เดือน จำนวน 5 ตัว มาทำให้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาผ่านทางจมูก แต่ปริมาณเชื้อที่ใช้ทดลองนั้นรุนแรงกว่าที่แมวจะติดได้ในชีวิตจริงเสียอีก
6 วันหลังจากนั้น แมว 2 ตัวที่ติดเชื้อ ถูก “กำจัด” เพื่อตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัส โดยพบเชื้อไวรัสนี้บริเวณจมูก ต่อมทอนซิล เพดานอ่อน และหลอดลมของแมว ส่วนแมวอีก 3 ตัวที่เหลือถูกย้ายไปอยู่รวมกับแมวปกติอีก 3 ตัว เพื่อดูว่ามันสามารถแพร่เชื้อไปสู่สัตว์ตัวอื่น ๆ ได้หรือไม่
3 วันให้หลัง นักวิจัยก็ตรวจพบไวรัสในอุจจาระของแมวตัวหนึ่ง (ตัวที่ไม่ได้ถูกทำให้ติดเชื้อแต่แรก) หลังจากที่ “กำจัด” มันเพื่อหาจุดที่เชื้อไวรัสฝังตัวอยู่ และพบว่าเชื้ออยู่ในบริเวณเดียวกันกับแมว 2 ตัวแรกที่ถูกกำจัดไปก่อนหน้านี้ จึงเป็นหลักฐานที่ว่าแมวสามารถส่งต่อเชื้อสู่กันได้ผ่านระบบทางเดินหายใจ
การศึกษานี้ได้นำไปต่อยอดกับสัตว์ชนิดอื่นด้วย คือ สุนัข ไก่ เป็ด หมู โดย ไก่ เป็ด และหมู ยังไม่มีการติดเชื้อหลังจากไปสัมผัสกับสัตว์ที่ติดเชื้อ เป็นไปได้ว่าสัตว์ 3 ชนิดนี้จะไม่มีบทบาทในการเป็นพาหะแพร่เชื้อไวรัสโคโรน่า
สำหรับประเทศไทยยังไม่พบรายงานในเรื่องนี้ แต่สมมติว่า ผู้ป่วยที่มีเชื้อและมีสัตว์เลี้ยงอยู่ที่บ้านจะทำอย่างไร ผู้ป่วยต้องแยกตัวเองออกจากสัตว์เลี้ยงอยู่แล้ว ส่วนผู้ที่กลับจากประเทศที่เสี่ยง ก็ไม่ควรคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยง ควรจะแยกตัวเองจากสัตว์เลี้ยงเหมือนกับแยกจากสมาชิกคนอื่นในครอบครัว เพื่อป้องกันไม่ให้เราไปแพร่แก่สัตว์เลี้ยง ซึ่งไม่ได้หมายความว่าสัตว์เลี้ยงจะติดเชื้อ แต่คือลดโอกาสไม่ให้เชื้อไปติดตามตัวสัตว์เลี้ยง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อระหว่างสัตว์เลี้ยงกับคนเรื่องโควิด-19 ยังไม่มีข้อมูล แต่ก็ต้องปฏิบัติเพื่อป้องกัน ฉะนั้นใครที่เป็นทาสแมวต้องระมัดระวังกันหน่อย หากมีอาการป่วยใดๆ ที่เสี่ยงต่อ COVID-19 ควรงดเล่นกับน้องแมวจนกว่าจะหายดี เพราะสัตว์เลี้ยงแสนรักอาจติดเชื้อจากคุณได้!
ดังนั้น คุณหมอขอแนะนำว่า “ ข้อปฏิบัติที่ดีที่ควรปฏิบัติตามสุขลักษณะ ก่อนที่จะสัมผัสหรือหลังสัมผัสสัตว์เลี้ยง ควรล้างมือให้สะอาด เป็นสิ่งที่ควรจะทำ และสัตว์เลี้ยงของเราเองก็ควรที่จะดูแลให้เขาสะอาดด้วยเช่นกัน ขณะเดียวกัน ย้ำว่า ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าสัตว์เลี้ยงเป็นแหล่งโรค COVID-19 และเน้นย้ำว่า เจ้าของสัตว์ควรรักษาสุขอนามัยอยู่เสมอ และไม่ควรทิ้งสัตว์เลี้ยงไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ”